ทุกชีวิต คือมิตรของเรา

รู้จักบริการการแพทย์ฉุกเฉิน บริการที่พร้อมช่วยผู้ป่วยให้รอดชีวิต

เป็นที่ทราบกันดีว่าเมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือเหตุฉุกเฉินขึ้น สิ่งที่จะตามมากก็คือเสียงไซเรนของรถแอมบูแลนซ์ ที่เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ฉุกเฉินใช้เป็นยานพาหนะในการเดินทางมาช่วยเหลือผู้ป่วยในที่เกิดเหตุ ซึ่งการรักษาพยาบาลฉุกเฉินจะไม่เกิดผลดีหากมีความล่าช้า ผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินจะเสียโอกาสในการอยู่รอดชีวิตในทุกนาทีที่ผ่านไป เจ้าหน้าที่ที่เดินทางมากับรถจึงต้องเป็นคนที่มีความเชี่ยวชาญในการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วย ซึ่งนี้ก็คือส่วนหนึ่งของบริการการแพทย์ฉุกเฉินนั่นเอง

บริการการแพทย์ฉุกเฉิน คืออะไร

บริการการแพทย์ฉุกเฉิน (Emergency medical services) ระบบที่ให้บริการดูแลและรักษาผู้ป่วยหรือบาดเจ็บในสถานการณ์ฉุกเฉินทางการแพทย์ ซึ่งบริการการแพทย์ฉุกเฉินมีวัตถุประสงค์หลักในการให้บริการที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพในการช่วยเหลือและรักษาผู้ป่วยในสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเป็นที่ต้องการการรักษาทันที เช่น การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน ภาวะอัมพาต หัวใจหยุดเต้น หรือการเจ็บป่วยอันฉุกเฉินอื่นๆ เป็นต้น

ปัจจุบันประเทศไทยมีการพัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินอย่างต่อเนื่องขยาย บริการครอบคลุมทุกจังหวัด ทั่วประเทศ โดยระบบการบริการการแพทย์ฉุกเฉินสามารถตอบสนองความต้องการการดูแลสุขภาพเบื้องต้นเมื่อเจ็บป่วยฉุกเฉินให้แก่ผู้ป่วยก่อนถึงโรงพยาบาลให้มากยิ่งขึ้น เป็นบริการมีการดูแลรับผิดชอบโดยแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านการบริการทางการแพทย์ฉุกเฉิน และเป็นบริการที่ไม่มีผลประโยชน์เป็นที่ตั้งหรือแอบแฝง

ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบริการการแพทย์ฉุกเฉินได้อย่างไร

เมื่อมีผู้เจ็บป่วยฉุกเฉิน ผู้พบเห็นเหตุการณ์สามารถโทรแจ้งเหตุได้ที่หมายเลข 1669 ได้ทั่วประเทศ ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อขอรถพยาบาลมารับผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินนำส่งโรงพยาบาล

ขั้นตอนการทำงานของระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน สามารถแบ่งออกเป็น 6 ระดับดังนี้

1. การเจ็บป่วยฉุกเฉินและการพบเหตุ (Detection)

การเจ็บป่วยฉุกเฉินเป็นเหตุที่เกิดขึ้นอย่างไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้า โดยสามารถเกิดขึ้นได้กับตัวเองและคนรอบข้าง หากผู้ป่วยโทรแจ้งเหตุได้เร็วจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นมาก เพราะสามารถทำให้กระบวนการช่วยเหลือผู้ป่วยมาถึงได้เร็ว ซึ่งตรงกันข้ามหากล่าช้านาทีที่สำคัญต่อชีวิตของผู้เจ็บป่วยจะหมดไปเรื่อยๆ จนกระทั่งสายเกินแก้ไขได้

2. การแจ้งเหตุขอความช่วยเหลือ (Reporting)

การแจ้งเหตุที่รวดเร็วโดยระบบการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพและมีหมายเลขที่จำได้ง่ายเป็นเรื่องที่จำเป็นมากเช่นกันเพราะว่าเป็นประตูเข้าไปสู่การช่วยเหลือที่เป็นระบบแต่ผู้แจ้งเหตุอาจจะต้องมีความรู้ความสามารถใน การให้ข้อมูลที่ถูกต้องรวมทั้งมีความสามารถ ในการให้การดูแลขั้นต้นตามความเหมาะสมอีกด้วย

3. การออกปฏิบัติการของหน่วยการแพทย์ฉุกเฉิน (response)

หน่วยปฏิบัติการฉุกเฉิน โดยทั่วไปจะแบ่งเป็น 4 ระดับ คือ

  • • หน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินระดับสูง (Advanced life support)
  • • หน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินระดับกลาง (Intermediate life Support)
  • • หน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินระดับต้น (basic life sup-port)
  • • หน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินเบื้องต้น (irst responder)

โดยทุกหน่วยจะต้องมีความพร้อมเสมอที่จะออกปฏิบัติการตามคำสั่งและจะต้องมีมาตรฐาน กำหนดระยะ เวลาในการออกตัวระยะเวลาเดินทาง โดยศูนย์รับแจ้งเหตุจะต้องคัดแยกระดับความรุนแรงหรือความต้องการของเหตุและสั่งการให้หน่วยปฏิบัติการที่เหมาะสมออกปฏิบัติการ

4. การรักษาพยาบาลฉุกเฉิน ณ จุดเกิดเหตุ (Onscene care)

หน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินจะประเมินสภาพแวดล้อมและจัดการความปลอดภัยสำหรับตนและทีมผู้ปฏิบัติงาน จากนั้นเข้าประเมินสภาพผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินเพื่อให้การดูแลรักษาตามความเหมาะสมและให้การรักษาพยาบาลฉุกเฉินตามที่ได้รับมอบหมายจากแพทย์ โดยมีหลักในการดูแลรักษาว่าต้องไม่เสียเวลา ณ จุดเกิดเหตุนานจนเป็นผลเสียต่อผู้ป่วย

5. การลำเลียงขนย้ายและการดูแลระหว่างนำส่ง (Care in transit)

หลักที่สำคัญยิ่งในการลำเลียงขนย้ายผู้เจ็บป่วยฉุกเฉิน คือ การไม่ทำให้เกิดการบาดเจ็บซ้ำ
เติมต่อผู้เจ็บป่วย ผู้ลำเลียงขนย้ายจะต้องผ่านการฝึกอบรมเทคนิควิธีมาเป็นอย่างดี ในขณะที่ขนย้ายจะต้องมีการประเมินสภาพผู้เจ็บป่วยเป็นระยะๆ ปฏิบัติการบางอย่างอาจกระทำบนรถในขณะกำลังลำเลียงนำส่งได้ เช่น การให้สารน้ำการดาม ส่วนที่มีความสำคัญลำดับรองลงมา เป็นต้น

6. การนำส่งสถานพยาบาล (Transfer to Definitive Care)

การนำส่งไปยังสถานที่ใดเป็นการชี้ชะตาชีวิตและมีผลต่อผู้เจ็บป่วยได้เป็นอย่างมาก การนำส่งจะต้องใช้ดุลยพินิจว่าโรงพยาบาล ที่จะนำส่งสามารถรักษาผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินรายนั้นๆ ได้เหมาะสมหรือไม่นั้น ต้องคำนึงถึงเวลาที่เสียไปกับความสามารถที่ไม่ถึงและความไม่พร้อมขอสถานพยาบาลนั้นๆ จะทำให้เกิดการเสียชีวิต พิการหรือปัญหาในการรักษาพยาบาลอย่างไม่ควรจะเกิดขึ้น

การบริการการแพทย์ฉุกเฉิน มีความสำคัญมากต่อการช่วยชีวิตผู้ป่วยตั้งแต่ก่อนมาถึงโรงพยาบาล เป็นปฏิบัติการที่ช่วยให้การดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยเบื้องต้นที่จำเป็นที่ถูกต้องตอบสนองได้รวดเร็ว ทันการณ์ ต้องประสานและร่วมงานกับหน่วยงานอื่น รวมถึงต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชนในสังคม ในการยอมหลบรถเปิดทางให้รถฉุกเฉินได้นำผู้ป่วยไปส่งโรงพยาบาลได้อย่างรวดเร็ว จึงจะทำให้เจ้าหน้าที่บริการทางการแพทย์ฉุกเฉิกทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสมบูรณ์